สายด่วนทนายความ 089-226-8899
|
สินค้า/บริการ >>> ทนายความจังหวัดเบตง
ทนายความจังหวัดเบตง
ทนายความจังหวัดเบตง 089-226-8899
เบตง เป็นอำเภอที่มีขนาดใหญ่ในจังหวัดยะลา นับเป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ใต้สุดของประเทศไทย โดยมีลักษณะเป็นหัวหอกยื่นเข้าไปในประเทศมาเลเซีย ตั้งอยู่ในแนวเทือกเขาสันการาคีรี มีเนื้อที่ประมาณ 1,328 ตารางกิโลเมตร ห่างจากตัวเมืองยะลาประมาณ 140 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 1,590 กิโลเมตร ด้วยภูมิประเทศของอำเภอเบตงส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงจึงทำให้เบตงมีอากาศดี และมีหมอกตลอดปี ดังคำขวัญประจำอำเภอที่ว่า “เมืองในหมอก ดอกไม้งาม ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน”
ประวัติศาสตร์ ยุคอาณาจักร จากประวัติศาสตร์เดิมราวพุทธศตวรรษที่ 7 พื้นที่ของอำเภอเบตงเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรลังกาสุกะ โดยมีอาณาเขตปกครองกว้างขวางครอบคลุมคาบสมุทรมลายูตอนล่างทั้งหมดโดยพัฒนามาจากเมืองท่าเล็ก ๆ ของชาวพื้นเมืองจนเติบโตเป็นรัฐและมีฐานะเป็นอาณาจักร จนกระทั่งสมัยพุทธศตวรรษที่ 14-15 อาณาจักรลังกาสุกะได้ตกอยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรศรีวิชัย โดยเชื่อว่าอาณาจักรศรีวิชัยน่าจะมีอำนาจที่แผ่กว้างไพศาลมากในสมัยนั้น มีอาณาเขตครอบคลุมไปถึงช่องแคบมะละกา ชวา สุมาตรา แหลมมลายู และหัวเมืองต่างๆ ที่อยู่ภาคใต้ของประเทศไทยในปัจจุบัน
ต่อมาต้นพุทธศตวรรษที่ 19 อาณาจักรศรีวิชัยที่เจริญรุ่งเรืองในบริเวณแหลมมลายูได้เสื่อมอำนาจลง และเกิดอาณาจักรใหม่ คือ อาณาจักรมัชฌาปาหิต (ชวา) ซึ่งมีอำนาจอยู่ในเกาะชวา หรืออินโดนีเซียนั้น ได้ขยายอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลเข้ามาครอบครองดินแดนสุมาตรา และบางส่วนของคาบสมุทรมลายูไป และทำให้ศรีวิชัยล่มสลายไปในที่สุด ประจวบกับในขณะนั้นอาณาจักรสุโขทัยได้ขยายอำนาจลงมายังเมืองไชยา เมืองตามพรลิงก์ และหัวเมืองมลายู และได้ผูกสัมพันธ์กับพระเจ้าศรีธรรมโศกราชโดยได้แต่งตั้งให้ดูแลหัวเมืองแหลมมลายู
เมื่ออาณาจักรสุโขทัยได้เสื่อมลง หัวเมืองมลายู ได้แก่ เมืองปัตตานี เมืองไทรบุรี เมืองกลันตัน และเมืองตรังกานู จึงเป็นประเทศราชต่ออาณาจักรอยุธยา โดยพื้นที่อำเภอเบตงเป็นส่วนหนึ่งของหัวเมืองปัตตานี ต่อมาเมื่ออาณาจักรอยุธยาอ่อนแอลง หัวเมืองมลายูทั้ง 4 จึงได้แข็งข้อ ตั้งตนเป็นรัฐอิสระตลอดมาจนกระทั่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) ทรงรวบรวมหัวเมืองมลายูกลับมาเป็นเมืองประเทศราช จนในรัชสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ได้เกิดความไม่สงบขึ้นบ่อยครั้ง จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาอภัยสงคราม และพระยาสงขลา ผู้กำกับดูแลหัวเมืองมลายู แบ่งเมืองปัตตานีออกเป็น 7 หัวเมือง และแต่งตั้งให้พระยาเมืองเป็นผู้ปกครองตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2359 เป็นต้นมา ได้แก่ เมืองปัตตานี เมืองยะหริ่ง เมืองสายบุรี เมืองหนองจิก เมืองระแงะ เมืองยะลา และเมืองรามัน ซึ่งพื้นที่ของอำเภอเบตงเดิมได้ขึ้นอยู่กับเมืองรามัน
ยุคปัจจุบัน
เมืองเบตงในอดีต
ที่ว่าการอำเภอเบตงหลังเก่า ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกการปกครองแบบจตุสดมภ์ โดยทรงปรับปรุงเปลี่ยนระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินใหม่ เรียกว่า "พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องถิ่น ร.ศ. 116" โดยได้นำมาใช้กับ 7 หัวเมืองภาคใต้ โดยเรียกว่า "ข้อบังคับสำหรับ ปกครอง 7 หัวเมือง ร.ศ. 120" มีการแบ่งการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล มีตำแหน่งพระยาเมือง (เจ้าเมือง) ปลัดเมือง, ยกกระบัตรเมือง, โดยทั้งหมดขึ้นตรงต่อข้าหลวง ซึ่งในภาคใต้แบ่งออกเป็น 4 มณฑล โดยเมืองปัตตานีขึ้นอยู่ในมณฑลนครศรีธรรมราช มีผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้ดูแล อยู่ในปกครองของข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑล ต่อมาเมื่อปีพุทธศักราช 2449 ได้โปรดเกล้าฯ ให้แยกหัวเมืองที่ขึ้นกับมณฑลนครศรีธรรมราชทั้ง 7 หัวเมือง มาตั้งเป็นมณฑลปัตตานี
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้มีการตราพระราชบัญญัติการบริหารราชการส่วนภูมิภาค พุทธศักราช 2476 ขึ้น จึงได้ยุบเลิกมณฑลปัตตานี และได้แบ่งออกเป็นจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาสในปัจจุบัน
ในส่วนของอำเภอเบตงนั้นแรกเริ่มได้ตั้งขึ้นเป็นอำเภอชื่อว่า อำเภอยะรม (ตั้งอยู่ที่บ้านฮางุด หมูที่ 1 ตำบลเบตง) แบ่งการปกครองออกเป็น 6 ตำบล คือ ตำบลเบตง ตำบลยะรม ตำบลอิตำ ตำบลโกรเน ตำบลบาโลน และตำบลเซะ หรือโกร๊ะ
ต่อมาในปีพุทธศักราช 2442 จากผลการปักปันแดนระหว่างไทยกับสหพันธรัฐมลายู (อาณานิคมของอังกฤษ) เป็นเหตุให้ตำบลอิตำ ตำบลโกรเน ตำบลบาโลน และตำบลเซะ หรือโกร๊ะ รวม 4 ตำบล ถูกตัดออกจากอำเภยะรมไปรวมอยู่กับรัฐเประในสหพันธรัฐมลายู อำเภอยะรมจึงเหลือการปกครองอยู่เพียง 2 ตำบล คือ ตำบลเบตง และตำบลยะรม ต่อมาได้มีการจัดตั้งตำบลอัยเยอร์เวง และตำบลฮาลา ซึ่งจากหลักฐานปรากฏว่า มีตำบลอัยเยอร์เวงในปีพุทธศักราช 2462 และมีตำบลฮาลาในปี พุทธศักราช 2486
ต่อมาอีกในปีพุทธศักราช 2473 สมัยที่พระพิชิตบัญชาการเป็นนายอำเภอ ได้ย้ายที่ตั้งที่ว่าการอำเภอจากบ้านฮางุส หมู่ที่ 1 ตำบลเบตง มาตั้งอยู่ที่บ้านกำปงมัสยิด หมู่ที่ 6 ตำบลเบตง พร้อมกับได้เปลี่ยนชื่อจาก "อำเภอยะรม" เป็น อำเภอเบตง (ที่ว่าการอำเภอหลังเก่าตั้งอยู่ใกล้กับสถานีตำรวจภูธรเบตงปัจจุบัน)
วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เกิดการประท้วงนำโดยหัวหน้าคือ ลู่ เง็กซี่ เรียกร้องให้อำเภอเบตงรวมเข้ากับมลายูของอังกฤษ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
ในปีพุทธศักราช 2481 ได้ตั้งตำบลตาเนาะแมเราะ และในปีพุทธศักราช 2482 ได้ยุบตำบลฮาลาไปรวมกับตำบลอัยเยอร์เวง รวมทั้งได้ประกาศตั้งเทศบาลตำบลเบตงโดยครอบคลุมพื้นที่ตำบลเบตงทั้งหมด ต่อมาเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2527 กระทรวงมหาดไทยประกาศตั้งตำบลธารน้ำทิพย์ ทำให้อำเภอเบตงมีการปกครองรวม 5 ตำบล คือ ตำบลยะรม ตำบลอัยเยอร์เวง ตำบลตาเนาะแมเราะ และตำบลธารน้ำทิพย์จนถึงปัจจุบัน
ต่อมาได้ย้ายที่ตั้งที่ว่าการอำเภออีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 มาตั้งอยู่ที่ปัจจุบัน โดยมีนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธานเปิดอาคารหลังใหม่
ที่ตั้งและอาณาเขต อำเภอเบตงตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองยะลาประมาณ 140 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอธารโต จังหวัดยะลา ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส และอำเภอฮูลูเปรัค (กริก) รัฐเประ ประเทศมาเลเซีย ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเปิงกาลันฮูลู (โกร๊ะ) และอำเภอฮูลูเปรัค รัฐเประ (ประเทศมาเลเซีย) ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอบาลิ่ง รัฐเกดะห์ (ประเทศมาเลเซีย)
สถานที่ท่องเที่ยว
บ่อน้ำร้อน
อุโมงค์ปิยะมิตร
บริเวณหอนาฬิกา และตู้ไปรษณีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์
พระพุทธธรรมกายมงคลประยูรเกศานนท์สุพิธาน
พระมหาธาตุเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ
อำเภอเบตงมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมอยู่หลายแห่ง โดยสามารถแบ่งแหล่งท่องเที่ยวได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มแรก กลุ่มแหล่งท่องเที่ยวบริเวณนอกเมือง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม และกลุ่มสอง กลุ่มแหล่งท่องเที่ยว และสิ่งดึงดูดทางการท่องเที่ยวในบริเวณเมืองเบตง
แหล่งท่องเที่ยวบริเวณนอกเมือง บ่อน้ำร้อนเบตง เป็นบ่อน้ำร้อนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ความร้อนของน้ำสามารถต้มไข่ให้สุกได้ภายในเวลา 7 นาที ประชาชนทั่วไป และนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาอาบน้ำแร่ เพราะเชื่อกันว่าทำให้สุขภาพดี และรักษาโรคบางอย่างได้ ปัจจุบันองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลาได้สร้างรีสอร์ทไว้ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวอีกด้วย น้ำตกอินทรศร เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่เกิดจากภูเขารอบ ๆ มีแอ่งน้ำสำหรับลงเล่นน้ำท่ามกลางป่าเขียวขจีโดยรอบ มีลักษณะร่มรื่น และสามารถว่ายน้ำเล่นและพักผ่อนได้เป็นอย่างดี อยู่ถัดจากบ่อน้ำร้อนเบตงไปทางหมู่บ้าน ปิยะมิตร 1 ประมาณ 3.7 กิโลเมตร อุโมงค์ปิยะมิตร ตั้งอยู่หมู่ 2 บ้านปิยะมิตร 1 ตำบลตะเนาะแมเราะ เป็นอุโมงค์ดินซึ่งอดีตขบวนการโจรคอมมิวนิสต์มาลายา (จคม.) สร้างขึ้น บนเนินเขาในป่าทึบ สำหรับเป็นฐานปฏิบัติการต่อสู้ทางการเมือง ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง อุโมงค์มีลักษณะคดเคี้ยวเข้าไปในภูเขายาวประมาณ 1 กิโลเมตร ลึก 50-60 ฟุต และมีทางออก 6 ทาง ใช้เวลาขุด 3 เดือน เพื่อเป็นที่หลบภัยทางอากาศ และสะสมเสบียง สวนดอกไม้เมืองหนาว อยู่ในบริเวณหมู่บ้านปิยะมิตร 2 ซึ่งห่างจากหมู่บ้านปิยะมิตร 1 ประมาณ 9 กิเมตร เป็นโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีพื้นที่ตั้งอยู่บนเขา มีอากาศเย็นสบาย มีแปลงทดลองปลูกไม้ดอกหลายประเภท เช่น ดอกฮอลีฮ้อค ดอกแอสเตอร์ ซึ่งมีสีสันสวยงาม ปัจจุบันทางโครงการมีบ้านพักไว้ให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 ภายในหมู่บ้านมีพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา ๑๐ สร้างขึ้นเพื่อจัดเก็บรวบรวมวัสดุสิ่งของที่อดีตขบวนการโจรคอมมิวนิสต์มาลายาใช้ในอดีต และรวบรวมประวัติความเป็นมาของการก่อตั้ง จคม. ให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษา นอกจากนี้ยังมีต้นไม้ยักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ (ต้นสมพงษ์) อีกด้วย ทะเลหมอกที่เขาไมโครเวฟ จุดชมทิวทัศน์เขาไมโครเวฟมีทะเลหมอกให้ชมทุกเช้า มีเส้นทางเป็นถนนลาดยาง ใกล้ถนนสาย 410 บริเวณ กม.33 ทางเข้าหมู่บ้านธารมะลิ ตำบลอัยเยอร์เวง น้ำตกละอองรุ้ง น้ำตกที่เป็นที่รู้จักกันดีของ ชาวไทยและต่างประเทศมากว่า 20 ปี ปัจจุบันได้รับการพัฒนาและดูแลโดยอุทยานแห่งชาติบางลาง ตั้งอยู่บนรอยต่อระหว่าง ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง กับ คำบลแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา น้ำตกเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของตำบลอัยเยอร์เวง เพราะมีธรรมชาติที่สวยงาม ตั้งอยู่ริมถนนทางหลวงสาย 410 ยะลา-เบตง บริเวณ กิโลเมตรที่ 33 บ้าน กม.32สำหรับชั้นที่ 1,2และ ส่วนชั้นที่ 4 และ5 อยู่ในเขต ม.5บ้านวังใหม่ 5 ปัจจุบันได้รับการพัฒนาจนสามารถรองรับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ ป่าบาลา-ฮาลา เป็นป่ามีความหลากหลายทางชีวภาพ มีสัตว์ป่าหายากหลากชนิด สามารถพัฒนาเป็นแหล่งทัศนศึกษาและเข้าค่ายพักแรม ค่ายกิจกรรมเยาวชนได้ มีห้องพักค้างแรมสำหรับบริการนักท่องเที่ยว ปัจจุบันดำเนินการโดยกองร้อย ตชด.ที่ 445 และในอนาคต จังหวัดยะลามีแนวทางพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีมาตรฐานแห่งหนึ่งในภูมิภาคอาเซียนภายใต้วิสัยทัศน์ "แอมะซอนแห่งอาเซียน" แหล่งท่องเที่ยวบริเวณในเมือง เมืองเบตง บริเวณเมืองเบตงมีตัวอาคารบ้านเรือนที่มีสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ที่ตั้งของเมืองเบตงตั้งอยู่กลางหุบเขาจึงทำให้มีอากาศดี มีหมอกในยามเช้า และจุดที่น่าสนใจในยามเย็นคือ ฝูงนกนางแอ่นนับหมื่นตัวที่อพยพมาจากไซบีเรีย เกาะอยู่ตามอาคารบ้านเรือน และบนสายไฟฟ้าใจกลางเมือง หอนาฬิกาเมืองเบตง หอนาฬิกาเป็นสิ่งก่อสร้างอันเก่าแก่ที่อยู่เคียงคู่กับเมืองเบตงมายาวนาน เปรียบเป็นสัญลักษณ์ที่ตั้งอยู่จุดศูนย์กลางของเมือง ทำการก่อสร้างด้วยหินอ่อน ในยามเย็นจะเห็นฝูงนกนางแอ่นนับหมื่นตัวมาเกาะอยู่รอบ ๆ สายไฟบริเวณหอนาฬิกาจนกลายมาเป็นสัญลักษณ์คู่หอนาฬิกา ตู้ไปรษณีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก นายสงวน จิรจินดา นายกเทศมนตรีเทศบาลเบตงคนแรก และเป็นอดีตนายไปรษณีย์โทรเลข ได้เห็นว่าอำเภอเบตงอยู่ห่างไกล มีการติดต่อสื่อสารใด ๆ ไม่ได้เลยนอกจากทางจดหมาย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเบตงจึงได้สร้างตู้ไปรษณีย์ขึ้นในปี 2467 โดยได้สร้างขึ้นที่บริเวณสี่แยกหอนาฬิกาใจกลางเมืองเบตง ปัจจุบันมีการสร้างตู้ใบใหม่ที่มีขนาดใหญ่เป็น 3.5 เท่าในบริเวณศาลาประชาคม ถือเป็นตู้ไปรษณีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน ตู้ทั้งสองใบสามารถใช้ส่งจดหมายได้ อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กมีความยาวตลอดอุโมงค์ ได้เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2544 อำเภอเบตงได้ก่อสร้างอุโมงค์แห่งนี้ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาในการขนส่งระหว่างชุมชนเมืองในปัจจุบันกับชุมชนเมืองใหม่ ซึ่งภายในอุโมงค์มีการติดไฟสวยงาม วัดพุทธาธิวาส วัดพุทธาธิวาสตั้งอยู่ใจกลางเมืองเบตง มีบรรยากาศร่มรื่นทัศนียภาพงดงามประกอบด้วยสถาปัตยกรรมที่มีความโดดเด่นเป็นสง่า ประกอบไปด้วยพระมหาธาตุเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ โดยองค์เจดีย์ตั้งอยู่บนเนินเขาภายในพระมหาธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธธรรมกายมงคลประยูรเกศานนท์สุพิธาน เป็นองค์พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ มีหน้าตักกว้าง 9.99 ม. สูง 14.29 ม. และมีน้ำหนักประมาณ 40 ตัน ซึ่งชาวอำเภอเบตงได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์เพื่อสร้างขึ้นเป็นปูชนียสถานที่สำคัญ มัสยิดกลางเบตง มัสยิดกลางเบตงได้ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองเบตง เป็นศูนย์รวมของพี่น้องชาวมุสลิมเบตง วัดกวนอิม เป็นสถานที่ตั้งศาลเจ้าอันเป็นที่ประดิษฐานของเทพสำคัญ ๆ หลายองค์ อาทิ เจ้าแม่กวนอิม ท่านแป๊ะกง ท่านกวงกง เจ้าแม่จิวหวังเหย่ ยี่หวังต้าตี้ หว่าโก่วเซียนชื่อ ขงจื้อ เป็นต้น และยังมีสถาปัตยกรรมของเจดีย์ 7 ชั้น วัดแห่งนี้ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2508 จากภายในบริเวณวัดซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขา สามารถมองเห็นทัศนียภาพอันงดงามของเมืองเบตงได้อีกด้วย อาคารมูลนิธิอำเภอเบตง ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2505 ประกอบด้วย อาคาร 2 หลัง หลังแรกเป็นโครงสร้างแบบศาลเจ้าจีน ภายในห้องโถงใช้เป็นสถานที่ตั้งพระบูชาของจีน ฝาผนังมีภาพวาดเทพนิยายจีนวิจิตรงดงาม บรรยากาศเข้มขลัง ส่วนอีกอาคารหนึ่งเป็นห้องโถงขนาดใหญ่สำหรับประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ของมูลนิธิ ฝาผนังภายในมีจิตรกรรมเรื่องราวของนรก สวรรค์ และเรื่องราวเชิงวรรณกรรม และแนวคิดตามปรัชญาจีน สวนสาธารณะเทศบาลเมืองเบตง (สวนสุดสยาม) สวนสาธารณะแห่งนี้มีพื้นที่ประมาณ 120 ไร่ ตั้งอยู่บนเนินเขากลางเมืองเบตง เป็นจุดชมทัศนียภาพมุมกว้างของเมืองเบตง ภายในสวนร่มรื่นไปด้วยไม้ยืนต้นไม้ดอกนานาพันธุ์ มีพิพิธภัณฑ์เมืองเบตง มีสวนสุขภาพ มีสนามกีฬาประจำอำเภอ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนในเขตเทศบาลเมืองเบตง บริเวณด่านพรมแดน บริเวณด่านพรมแดนมีป้าย “ใต้สุดสยาม” ซึ่งเป็นแลนมาร์คแห่งหนึ่งของอำเภอเบตง และนอกจากนี้ยังมีกำแพงกั้นระหว่างไทย - มาเลเซียซึ่งเป็นกำแพงปูนมีความสูงประมาณ 2 - 3 เมตร เลียบถนนชายแดนไทย – มาเลเซียซึ่งเป็นเส้นทางที่มีความสวยงามเส้นทางหนึ่ง อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ก่อสร้างเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2547 เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ศึกษาและพัฒนาป่าดิบชื้น (บาลา-ฮาลา) เฉลิมพระเกียรติ ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 25 ไร่ บนเนินเขา มีวัตถุประสงค์สำคัญในการก่อสร้างเพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถสัมผัสถึงเรื่องราว และข้อมูลที่น่าสนใจของผืนป่าบาลา-ฮาลา เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวสองกลุ่มที่ได้กล่าวมาแล้วยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่น่าสนใจโดยอยู่บริเวณตำบลอัยเยอร์เวง และบางส่วนอยู่ในอำเภอธารโตตามเส้นทางหลวงหมายเลข 410 ยะลา – เบตง เช่น เขื่อนบางลาง, ป่าบาลา - ฮาลา, หมู่บ้านซาไก, น้ำตกละอองรุ้ง, บ่อน้ำร้อนนากอ, น้ำตกวันวิสาข์ เป็นต้น
|